สำหรับการผลิตคอร์สออนไลน์สมัยนี้ มันก็ง้ายง่ายยย สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้น ถ้าเนื้อหาเราดีจริง ๆ สื่อวีดีโอเราอาจจะไม่ต้องหรูหราหมาเห่าหมาหอนอะไรมาก
แต่ถ้ามีแนวคิดที่จะทำออกมาให้มันดีที่สุด ใส่ใจรายละเอียด เพิ่มความน่าสนใจ และทำให้คนดูรู้สึกเพลิดเพลินไปด้วยได้ ก็ย่อมดีกว่า
สื่อวีดีโอที่ใช้ทำเป็นคอร์สออนไลน์ มีพื้นฐานที่ดีเลยก็คือ ภาพและเสียง
ภาพวิดีโอที่ดี
ภาพวีดีโอที่ดี คมชัด ก็มาจากกล้องที่ดีและการจัดแสงที่ดี แน่นอนว่าสมัยนี้ สมาร์ทโฟนรุ่นที่ดีหน่อย รุ่นใหม่หน่อย ก็ช่วยให้เราได้ภาพวีดีโอที่สวยคมชัดได้เพียงพอ แต่แน่นอนว่ากล้องถ่ายรูปโดยเฉพาะก็จะให้คุณภาพของไฟล์ที่ดีกว่า ปรับแต่งได้มากกว่า และที่ต้องหามาเพิ่มเติมสักหน่อยก็คือขาตั้งกล้องหรือโทรศัพท์สักตัว และจัดสถานที่ถ่ายทำให้ดูน่าสนใจกับหัวข้อที่จะสอน ถ้าคิดไม่ออก จัดให้พื้นหลังเป็นสีขาวเรียบ ๆ ไว้ก็ได้ เพราะง่ายแก่การใส่ตัวหนังสือหัวข้อที่สอนได้ในขั้นตอนการตัดต่อ อีกประเด็นคือแสงสว่างต้องเพียงพอ มีไฟวงแหวนหรือโคมไฟสักดวง ก็จะทำให้ภาพวีดีโอของเรามีความสว่างสดใสมากขึ้น ดูเป็นมืออาชีพ
เสียงที่ดี
เสียงที่ดี ได้ยินชัดเจน ก็มาจากไมโครโฟนที่ดี ซึ่งก็มีหลายแบบหลายราคา ถ้างบประมาณจำกัด สามารถใช้หูฟังโทรศัพท์ทั้งแบบมีสายและแบบไร้สายช่วยได้ในช่วงเริ่มต้น แต่หากมีงบสักหน่อย ไมโครโฟนติดปกเสื้อแบบมีสายก็ราคาไม่แพง เริ่มต้นที่ประมาณ 500 กว่าบาท อย่างยี่ห้อ Boya ก็โอเค แต่ไมโครโฟนมีสายก็อาจไม่คล่องตัวในการออกแอคชั่นเวลาสอน หรือในหลาย ๆ ครั้ง สายก็ดึงกล้องล้มลงกับพื้นเสียหาย จุดนี้จึงต้องระวัง แต่หากพร้อมจะลงทุนจริงจังหน่อย ก็จัดไมโครโฟนไร้สายไปเลย
การตัดต่อ
หลังจากได้ภาพวีดีโอที่ดีเสียงชัดเจนแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นขั้นตอนการตัดต่อ ถ้าเอาแบบง่าย ๆ ถ่ายยาว ๆ แล้วจบเลย เทคเดียวผ่าน มันก็ได้แหละ แต่ที่เราจะมาเข้ากระบวนการการตัดต่อก็เพื่อ "ทำให้มันน่าสนใจขึ้น" ทั้งการใส่ภาพประกอบ ใส่ตัวหนังสือที่เป็นหัวข้อสำคัญ ใส่ดนตรีประกอบ ฯลฯ
แน่นอนว่าเรามีข้อแนะนำตั้งแต่ระดับเริ่มต้นมาบอกเหมือนเดิม สำหรับคนที่เริ่มต้นจริง จะจ้างคนตัดต่อได้ก็ดี จ่ายเงินจบ ๆ ไป แต่ถ้าเริ่มต้นและงบจำกัด อยากทำเองเป็น ก็มีแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนที่คนนิยมใช้กันอย่าง KINEMASTER เรียนรู้ลองทำได้เองง่าย ๆ เครื่องมือไม่ซับซ้อน แต่แนะนำให้ซื้อแบบพรีเมี่ยม จ่ายรายปีไม่ถึงพันบาท จะทำให้มีลูกเล่นมากขึ้น เซฟไฟล์วีดีโอออกมาได้ชัดกว่าแบบที่ไม่ได้จ่ายแบบพรีเมี่ยม
แต่ถ้าใครอยากอัพเกรดแบบมือโปรก็ต้องศึกษาโปรแกรมอย่าง Premier pro หรือใครใช้ MacBook ของค่าย Apple จะเป็นโปรแกรม Final cut pro
ภาพหน้าปกคอร์สเรียน
สุดท้ายของสุดท้ายคือการทำภาพหน้าปกคอร์สเรียน เพื่อให้เตะตาโดนใจ ขายคอร์สกระจาย ก็จะมีแอปพลิเคชันที่ง่าย ๆ ใช้ได้ทั้งกับสมาร์ทโฟนและบนโน้ตบุ๊ค (โดยการใช้งานผ่านเว็บไซต์) นั่นก็คือ Canva นั่นเอง ซึ่งเขาจะมี template สำเร็จรูปให้เราใช้มากมาย ทำได้เองง่าย ๆ แต่ถ้าใครไอเดียบรรเจิด และอยากดูโปรขึ้น ก็ไปใช้โปรแกรมอย่าง photoshop หรือ illustrator
สำหรับข้อมูลที่นำมาฝากในบทความนี้ ก็น่าจะทำให้หลายคนที่เริ่มมีหัวข้อในใจ กำหนดหลักสูตรคอร์สออนไลน์ได้คร่าว ๆ แล้ว แต่ยังติดด้าน Production ที่ยังจับต้นชนปลายไม่ถูก ก็น่าจะพอคลำทางได้ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร ที่เหลือก็ลงมือทำ และลุยได้เลยครับ
ใครสงสัยตรงไหน สามารถทักมาสอบถามทีมงาน MKT Solution ได้ และคอนเทนต์ต่อไป เราจะลงลึกเครื่องมือในการทำ Production ตัวไหน ติดตามได้เลยครับ
Facebook
Twitter
LinkedIn
โดย กานต์ ผ่องสว่าง
- ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็มเคที โซลูชั่น จำกัด
- วิทยากรอิสระ บรรยายเรื่องการวางแผนและการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้กับองค์กรและสถานศึกษามากมาย
- ที่ปรึกษาการตลาดให้กับธุรกิจ SME และ startup
เจ้าของคอร์สฝึกอบรมด้านการตลาด “Marketing Concept”
- เจ้าของกิจการร้านอาหาร “มอร์นิ่ง (Morrrning)”
- อดีตเจ้าของและพิธีกรรายการ “Mr.Apollo” ออกอากาศทาง YouTube